ABOUT

ที่มาและความสำคัญของศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent center) ⇒ ด้าน จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม (Cultural Psychiatry)

กรมสุขภาพจิต ได้วางนโยบายเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในโครงการพัฒนาหน่วยบริการจิตเวชให้มีความเป็นเลิศ (Excellent Center ) หน่วยบริการสุขภาพจิตและจิตเวชทั้ง 18 แห่ง ภายใต้กรมสุขภาพจิต จึงมีทิศทางในการปรับโครงสร้างและการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ ในบทบาทของจิตเวช ขนาด 120 เตียง ตั้งอยู่ในทำเลภูมิศาสตร์ชายขอบประเทศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แวดล้อมด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน รวมถึงเป็นช่องทางการเข้ามาของวัฒนธรรมทีมีความแตกต่าง ของประเทศเพื่อนบ้าน ในแง่การรับบริการด้านสาธารณสุข พบว่าผู้ที่มารับบริการมีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรมค่อนข้างสูง โรงพยาบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โดยมีวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน รวมถึงการศึกษาวิจัย และกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในด้านการรักษาการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ที่ใช้ปัจจัยด้านวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือหลัก นำมาสู่ประเด็นความเป็นเลิศในด้าน “จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม ( Cultural Psychiatry ) ที่มีความหมายครอบคลุมถึงบริบททางวัฒนธรรมในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง และบริบททางสังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม

นอกจากนี้ “จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม” อาจมีความหมายครอบคลุมถึงกระบวนการพัฒนาศักยภาพ ผู้ให้บริการทางด้านสาธารณสุขให้มี “ความสามารถในเชิงวัฒนธรรม ( Cultural Competency ) ในการให้บริการแก่ประชาชน ที่มีปัจจัยพื้นบานทางวัฒนธรรม และภาษาที่มีความแตกต่าง รวมถึงการสร้างให้ประชาชนมี “การปรับตัวทางวัฒนธรรม (Cultural Adaptation) ที่ดีขึ้นเพื่อนำมาสู่ความสำเร็จในการลดช่องว่างด้านการให้บริการ เพื่อการเข้าถึงสุขภาพจิตและจิตเวช โดยคำถึงความแตกต่างทางด้านภาษา และวัฒนธรรม ลดโอกาสในการปิดกั้นการเข้าถึงบริการ ของคนกลุ่มน้อยที่มีปัญหาด้านภาษาและวัฒนธรรม

ศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรม เป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับและมีการศึกษาอย่างแพร่หลาย ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การบูรณาการศาสตร์ทางวัฒนธรรมเข้ากับจิตเวชศาสตร์ แม้จะมีความเกี่ยวข้องกันในเชิงทฤษฎี แต่ในเชิงปฏิบัติกลับพบว่ามีแนวทางปฏิบัติที่เป็นแนวรูปธรรมค่อนข้างน้อย หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์โดยระเบียบวิธีวิจัยที่ได้การยอมรับ ในการนี้ โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ จึงมีเป้าหมายในการเติมเต็มในส่วนขาดดังกล่าว ไม่ใช่เพียงการเติมเต็มความครบถ้วน สมบูรณ์ทางวัฒนธรรม แต่เป็นการเติมเต็มในส่วนกว้างละลึก ของวิชาจิตเวชศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรต้นแบบของประเทศ ในการนำนวัตกรรมด้าน”จิตเวชศาสตร์เชิงวัฒนธรรม”มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม